วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรือนไทย วิถีชีวิต และภูมิปัญญา


เรือนไทย วิถีชีวิต
และภูมิปัญญาของคนไทย



บ้าน


ทุกชีวิตเกิดมาย่อมมี "บ้าน" เป็นจุดเริ่มต้น จากรูปทรงแห่งอดีตจนถึงปัจจุบัน "บ้าน" เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยิ่งในการศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มชนแต่ละพวก แต่ละถิ่นฐาน รวมถึงการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของมนุษย์ "บ้าน" คือการบอกเล่าความเป็นมา คือการบอกล่าวถึงพัฒนาการในการดำรงชีพของมนุษย์ "บ้าน" ที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์
และบ่งบอกถึงความั่นคง


เรือนไทยภาคกลาง

การตั้งหลักแหล่งชุมชนตลอดจนเรือนพักอาศัยในแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น จะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตสำหรับเรือนไทยภาคกลาง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านเป็นจำนวนมาก เรือนไทยภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นเรือนชั้นเดียว ยกพื้นใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องนอน ระเบียง และชาน ส่วนหลังคาเป็นทางจั่วสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จาก แฝก หญ้าคา และใบตองตึง และนิยมปลูกกันริมแม่น้ำลำคลอง เพราะในสมัยโบราณแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก


เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลางที่เป็นเรือนหอของครอบครัวที่ก่อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยเรือนนอนซึ่งมีห้องนอนและห้องโถงหนึ่งหลังเรือนมี 3 ช่วงเสา 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน อีก 1 ช่วงเสาเป็นห้องโถง มีไว้สำหรับเลี้ยงพระ รับแขก รับประทานอาหาร และพักผ่อนเมื่อครอบครัวขยายตัว ลูกชายหรือลูกสาวโตขึ้นและมีครอบครัว โดยตกลงว่าจะอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นตรงกันข้ามกับเรือนพ่อแม่ โดยมีชานเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นเรือนหมู่ขึ้นเรือนหมู่ คือ เรือนปลูกอยู่ในที่เดียวกันมีหลายหลัง ในระยะต่อมาเมื่อมีความเจริญแล้ว อาจมีนอกชานแล่นกลางติดต่อกันได้ตลอดเรือนเหล่านี้หลังหนึ่งเป็นเรือนเดิมซึ่งพ่อแม่อยู่ นอกนั้นเป็นเรือนหลังย่อมกว่า เป็นที่อยู่ของบุตรสาวที่ออกเรือนไปแล้ว

ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า หอขวาง ตามปกติมักกั้นฝาทั้งสามด้าน เปิดโล่งไว้แต่ด้านหน้า สำหรับเป็นที่รับแขกเป็นทำนองเดียวกับเรือน พะไล้ ถ้าเรือนหมู่นี้เป็นของคหบดี มักมีเรือนโถงปลูกขึ้นหลังหนึ่งที่ตรงกลางชาน สำหรับเอาไว้นั่งเล่นหรือใช้เป็นสถานที่เวลามีงาน เช่น สวดมนต์เลี้ยงพระสำหรับหอนั่งไม่จำเป็นต้องปลูกอยู่กลางชานเสมอไป จะใช้เรือนที่ยังไม่มีคนอยู่และเปิดเป็นห้องโถงใช้เป็นหอนั่งก็ได้ นอกจากนี้อาจมีเรือนหลังเล็กๆ สำหรับเลี้ยงนก ซึ่งปลูกไว้ตรงไหนก็ได้ตามความเหมาะสมเรือนแบบนี้เรียกว่า หอนก ส่วนด้านหลังของหอนั่งมักปลูกเป็นร้านต้นไม้ ส่วนใหญ่นิยมปลูกไม้เถาที่ดอกมีกลิ่นหอมอย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเรือนไทยภาคกลางนิยมปลูกเป็น 3 ห้องนอน และไม่นิยมปลูกเรือน 4 ห้อง เพราะถือว่าเรือนอยู่สี่ห้องได้เดือนร้อนรำคาญ ถ้าเป็นคหบดีนิยมปลูกเรือนตามตะวันเป็นเรือนแฝด มีชานบ้านแล่นกลาง หลังหนึ่งเป็นเรือนพักอาศัย 3 ห้อง เป็นห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องพระ


อีกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นก็ทำแบบเดียวกันให้เป็นที่อยู่ของบิดามารดา หรือปู่ย่าตายาย กลางชานที่แล่นกลางเรือนนิยมสร้างเป็นเรือนโปร่ง บนนอกชานนั้นครึ่งหนึ่งเรียกกันว่า หอนั่งหรือหอกลาง ใช้เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนยามเสร็จธุระ การงานในยามเย็นหรือยามค่ำคืนก่อนจะเข้านอนส่วนเรือนครัวจะเชื่อมต่อกับเรือนนอนด้วยชาน ชายคาของเรือนทำรางไม้รองน้ำฝน ปลายรางมีตุ่มตั้งไว้ 1 ลูก เรือนครัวนี้มีหน้าต่างด้านข้างและด้านเหนือเตาไฟ เพื่อเปิดระบายควันไฟยามทำครัว มิให้ควันไฟจับรมควันจนดำ


ภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพบุรุษไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์



เมื่อกล่าวถึงเรือน ไทย หลายท่านคงจะนึกถึงเรือนไทยติดริมน้ำ ใต้ถุนยกสูง ผนังไม้ฝาปะกน และมีหลังคาจั่วทรงสูง ในความเป็นจริงแล้ว เรือนไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ด้วยการใช้หลักการใช้การใช้วัสดุในการก่อสร้างเป็นตัวแปร ดังนั้นจึงสามารถจำแนกประเภทของเรือนไทยเป็นเรือนเครื่องผูก เรือนเครื่องสับ และเรือนเครื่องก่อ
เรือนเครื่องผูก นั้นเป็นการใช้ไม้ไผ่หรือไม้ขนาดเล็กนำมาประกอบยึดด้วยเชือกเข้าด้วยกันเป็น โครงสร้าง ตัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ตะปูยึดเป็นที่พักอาศัยแบบง่ายๆ
เรือนเครื่องก่อ เป็นการสร้างอาคารให้มีความคงทนถาวร มีอายุการใช้งานได้นานโดยการก่ออิฐถือปูนโดยจะเป็นการสร้างและออกแบบอาคาร เพื่อทางศาสนาและพระราชวังเป็นหลัก
ส่วนเรือนเครื่องสับ เป็น รูปแบบของเรือนไทยที่ยกฐานะของตัวเอง เป็นการพัฒนาการก่อสร้างจากเรือนเครื่องผูก ด้วยการใช้ไม้จริง และการนำเอาเทคโนโลยีการแปรรูปของไม้ เช่น การใช้มี ขวาน เลื่อย สิ่ว กบ ค้อน มาปรับแต่งไม้ ถากไม้ให้เป็นรอยสับ รูเจาะ เป็นร่อง เข้าเดือย และเข้าลิ้น แล้วนำไม้ที่แปรแล้วมาประกอบเป็นตัวเรือน

และเมื่อกล่าวถึงการประหยัดพลังงานกับเรือนไทยนั้น ก่อนอื่นต้องขอยกตัวอย่างบรรพบุรุษไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพเรือนที่อยู่ อาศัย และการแก้ปัญหาเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ในสภาพต่างๆ ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น การยกใต้ถุนสูงเพื่อหลีกหนีจากภัยน้ำท่วม มีหลังคาทรงสูง เพื่อระบายน้ำฝนให้เร็ว เป็นต้น คราวนี้เรามาดูกันว่าเราสามารถปรับการใช้สอยของอาคารเรือนไทยให้เข้ากับที่ อยู่อาศัยในปัจจุบันได้อย่างไร โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
การยกใต้ถุนสูงนั้น เป็นการหนีเรื่องปัญหาน้ำท่วมของคนโบราณ และยังได้ใช้ประโยชน์ของใต้ถุนด้วยการนั่งพักผ่อน ทำงานจักรสาน ทานข้าว เก็บของ และเลี้ยงสัตว์ การยกใต้ถุนนั้นก็เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถนั่งทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ และยังสามารถหนีน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย ในปัจจุบันหลายๆ พื้นที่ในเมืองไทยยังไม่สามารถหนีปัญหาน้ำท่วมได้ ถ้าการออกแบบบ้านสามารถยกพื้นสูงได้จะเป็นการดี
ชานเรือนนั้นเป็นตัวเชื่อมของเรือนนอนแต่ละหลังเข้าด้วยกัน เป็นตัวสร้างกิจกรรมภายในครัวเรือนให้เกิดขึ้นเป็นการให้แขกบ้านแขกเรือน เข้ามานั่งพูดคุย เรือนไทยบางหลังก็ยังปลูกต้นไม้ใหญ่กลางชานบ้าน เพื่อให้เกิดร่มเงาในบ้านเป็นการลดความร้อนในระดับหนึ่ง พื้นที่ของชานเรือนก็ปูด้วยไม้เว้นระยะให้ลมจากใต้ถุนบ้านลอดเข้ามา และยังเป็นการระบายน้ำฝนให้ออกจากตัวเรือนชานได้รวดเร็วอีกด้วย
การปลูกไม้กระถาง และอ่างบัวบนชานเรือน เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยแท้ เพราะนอกจากความสวยงามของการปลูกไม้กระถามแล้ว ต้นไม้ยังผลให้เกิดความร่มรื่นและคายออกซิเจนเข้าสู่ตัวบ้าน ส่วนอ่างบัวนั้นมีไว้เพื่อระบายความร้อน น้ำในอ่างเมื่อโดนแดดหรือความร้อนก็จะระเหยกลายเป็นไอ และเมื่อลมพัดก็จะเกิดอากาศที่เย็นสบายเข้าสู่ตัวบ้าน

ชายคาบ้านเรือนไทยนั้น

จะทอดยาวเพื่อเป็นการบังแดดและลดอุณหภูมิอีกระดับหนึ่งก่อนการเข้าไปในห้องนอน

ฝาบ้าน

เรือนไทยเองนั้นมีฝาบ้านหลากชิดแล้วแต่ประโยชน์ใช้สอยในพื้นที่ต่างกัน เช่นฝาสำรวม ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้กระบอกที่สานกันเป็นโครงสร้างแล้วกรุด้วยแฝกทำให้ อาการถ่ายเทได้สะดวก เหมาะที่จะใช้กับเรือนครัวเพื่อระบายควัน

ฝาไหล

เป็นการนำฝาไม้ตีเว้นช่องสลับกัน 2 ฝา วางอยู่บนรางไม้ เมื่อเลื่อนมาเหลื่อมกันก็จะเป็นฝาผนังทึบ เมื่อเลื่อนฝาออกมาซ้อนกันก็จะทำให้เกิดเป็นช่องว่างทำให้ลมและแสงเค้ามาใน ตัวเรือนได้

ฝาเกล็ด

เป็นฝาไม้กระดานมาตีปิดเป็นแนวนอนกับไม้โครงคร่าว โดยวางให้ไม้กระดานเหลื่อมกันเป็นลำดับคล้ายเกล็ดปลา บ้านในสมัยปัจจุบันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ด้วย การเว้นช่องระหว่างบานไม้คล้ายกระจกบานเกล็ด ทำเป็นหน้าต่างไม้บานเกล็ด สามารถให้ลมไหลผ่านได้ และเป็นการบังสายตาจากภายนอก
การปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดความร้อนที่เข้ามากระทบกับตัวเรือน ควรปลูกต้นไม้ตามแนวแดดอ้อมใต้ คือปลูกด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือควรเปิดเอาไว้เพื่อรับแสงธรรมชาติ เพื่อลดการใช้แสงประดิษฐ์ในเวลากลางวัน


ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในการสร้างเรือนนั้นเป็นการแก้ปัญหาด้วยหลักการง่ายๆ สมควรที่สถาปนิก และผู้ที่ต้องการสร้างบ้านเพื่อลดการใช้พลังงาน ควรรับไปพิจารณาและในขณะเดียวกันนั้น ผู้ที่มีบ้านอยู่แล้ว สามารถนำแนวความคิดการปลูกเรือนไทย มาปรับแต่งประยุกต์ใช้ในบ้าน เพื่อลดการใช้พลังงาน เช่นการปลูกต้นไม้บังแดดและเป็นการช่วยกรองอากาศอีกทางหนึ่ง การขุดสระ หรือปลูกบัวกระถางก็เพื่อการระเหยของไอน้ำเพื่อความเย็นในตัวบ้าน และการต่อยื่นชายคาหรือกันสาด เพื่อลดการกระทบของแสงแดดที่จะเข้ามาในตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการถ่ายลดระดับอุณหภูมิก่อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะอยู่สบาย เมื่อเข้าถึงตัวบ้าน ดังนั้นทุกท่านสามารถนำหลักการง่ายๆ ที่ได้กล่าวมานี้ นำมาปรับใช้ในที่อยู่อาศัยปัจจุบันเพื่อการลดการใช้พลังงานได้อย่างดี

มรดกแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย งานศิลป์ที่สั่งสมองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา และเคารพสภาพแวดล้อมได้อย่างมีเหตุผล รายละเอียดและองค์ประกอบของเรือนไทยทุกส่วน จึงล้วนมีที่มาที่ไปเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขีดจำกัดของโครงสร้างบ้านในยุคนั้น หากเรามองลึกเข้าไปในรายละเอียด ดีไซน์เหล่านี้ยังสามารถนำมาปรับใช้กับบ้านสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี เราลองมาศึกษารายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในเรือนไทย ว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับบ้านในยุคนี้ได้

ใต้ถุนสูง
เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนไทย ในอดีตคนไทยมักจะปลูกเรือนติดริมน้ำ เพื่อความสะดวกในการสัญจรทางน้ำและการประกอบอาชีพกสิกรรม ตัวเรือนจึงถูกออกแบบให้ยกสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้านในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้เรายังสามารถใช้พื้นที่ใต้ถุนเป็นที่พักผ่อน ทำงาน เลี้ยงสัตว์ เก็บของใช้ ป้องกันโจรและสัตว์ร้ายขึ้นเรือน เนื่องจากบันไดของเรือนไทยสามารถยกเก็บเข้าบ้านได้ ในแง่ของการออกแบบแล้ว ใต้ถุนที่โล่งจะช่วยให้ลมพัดผ่านสะดวกมากขึ้น และตัวเรือนด้านบนยังเป็นเกราะป้องกันความร้อนให้พื้นที่ใต้ถุนได้เป็นอย่างดี เมื่อประโยชน์ของใต้ถุนมีมากขนาดนี้ ใครที่กำลังคิดปลูกบ้านถึงแม้จะไม่ใช่ทรงไทยก็ตาม อย่าลืมทำใต้ถุนให้บ้านด้วยนะครับ นอกจากนี้การปลูกต้นไม้และพืชคลุมดิน ยังทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆบริเวณใต้ถุนและบ้านดูร่มรื่นเย็นสบายด้วยครับ



ชานเรือน
เรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนหมู่ มีชานเป็นตัวเชื่อมระหว่างเรือนแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถต่อเติมเรือนหลังใหม่ได้สะดวก เมื่อลูกสาวออกเรือนมีครอบครัวใหม่ (คนไทยสมัยก่อนเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง) เพราะไม่ต้องยุ่งกับโครงสร้างเดิมของเรือนเก่า พื้นชานเรือนไทยจะตีเว้นร่อง เพื่อให้ลมจากใต้ถุนพัดขึ้นมาได้ และช่วยให้ไม้สามารถยืดหดตัวได้โดยไม่โก่งงอ อีกทั้งยังเป็นช่องระบายน้ำเวลาฝนตก อาบน้ำ และป้องกันไม่ให้น้ำขังบนชานจนเป็นสาเหตุให้ไม้ผุได้ หน้าที่สำคัญอีกอย่างของชานคือ เป็นลานกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งช่วยไม่ให้เราอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน ใครอยากเพิ่มพื้นที่สัมผัสธรรมชาตินอกบ้าน อาจนำชานหรือระเบียงแบบเรือนไทยมาใช้ดูนะครับ หรือบ้านไหนที่ปูระเบียงไม้นอกบ้าน เทคนิคการปูพื้นไม้เว้นร่องของเรือนไทยก็เป็นไอเดียที่ดีทีเดียว



รั้วบ้าน
รั้วของชานบ้านเรือนไทยเป็นส่วนช่วยกั้นขอบเขตและสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้าน ลักษณะคล้ายผนังบ้านยื่นต่อออกมาจากตัวเรือน บางส่วนเจาะเป็นช่องลูกกรงเพื่อระบายอากาศ อีกทั้งยังเป็นช่องที่คนในบ้านสามารถมองออกไปเห็นคนข้างนอกได้ด้วยเราอาจนำเอาลักษณะรั้วของชานบ้านเรือนไทยมาประยุกต์กับระเบียงบ้านชั้น 2 ของบ้านสมัยใหม่ เพราะพื้นที่ระเบียงมักเป็นส่วนที่เราไม่ค่อยได้ออกไปใช้บ่อยนัก (อาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะบ้านที่ปลูกติดกัน) เพื่อให้ระเบียงบ้านของเราสามารถใช้งานได้และเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่ยังเป็นที่นั่งเล่นรับลมได้เหมือนเดิม


ช่องแมวลอด
เป็นช่องว่างระหว่างชานกับพื้นเรือน สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวเรือน เป็นช่องที่ช่วยรีดลมจากใต้ถุนขึ้นมาบนพื้นชาน เพื่อให้บริเวณชานบ้านเย็นสบาย ด้วยระดับความสูงพอเหมาะจะนั่งหย่อนขาได้สบาย ช่องแมวลอดจึงเป็นที่นั่งเล่นหรือทำงานของคนสมัยก่อนด้วย อีกทั้งบ้านที่ยกฐานสูงจากระดับพื้นยังดูเด่นและมีมิติมากกว่าบ้านไม่ยกระดับ ในการออกแบบบ้านสมัยนี้ก็เช่นกัน ถ้าคิดจะเล่นระดับพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกบ้าน ให้มีมิติและสามารถใช้เป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย ก็ลองหยิบยืมระดับความสูงของช่องแมวลอดมาใช้ได้ครับ


เฉลียงหรือระเบียงหน้าห้อง
เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในห้อง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยในร่มมากขึ้น หลังคาคลุมเฉลียงจะยื่นยาวออกมาจากกันสาด ปลายอีกด้านจะวางอยู่บนเสาเฉลียง พื้นที่ส่วนนี้นอกจากจะเป็นส่วนอเนกประสงค์แล้ว ยังช่วยกรองแสงและปรับสภาพ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายเร็วเกินไปในขณะที่เราเดินเข้า-ออกบ้าน จนเป็นสาเหตุให้ไม่สบายได้ การออกแบบประตูทางเข้า-ออกบ้านให้มีหลังคายื่นคลุม (CANOPY) เช่นเดียวกับเฉลียงของเรือนไทย จึงช่วยป้องกันทั้งอากาศร้อนไม่ให้ไหลผ่านเข้าบ้านได้โดยตรง และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นภายนอกได้ด้วยครับ



หน้าต่าง
รูปร่างหน้าตาขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอย หรือ "FORM FOLLOWS FUNCTION" เป็นปรัชญาการออกแบบที่บรรพบุรุษไทยนำมาใช้ออกแบบเรือนไทย สังเกตได้จากระดับความสูงของหน้าต่างของเรือนไทยที่สูงจากพื้นเพียง 30-40 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะปรกติคนสมัยก่อนจะนั่งและนอนกับพื้น ความสูงหน้าต่างจึงต้องออกแบบให้อยู่ในระดับที่ลมพัดผ่านกระทบร่างกายได้ อีกทั้งคนบนเรือนยังสามารถชะโงกมองออกมาหน้าต่างได้โดยไม่ต้องลุกยืนด้วย การออกแบบบ้านในสมัยนี้เช่นกัน ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยระหว่างภายนอกและภายในด้วย รูปแบบบ้านควรสอดคล้องกับการจัดเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น ถ้าเราจะตกแต่งห้องนอนสไตล์ทรอปิคัล อาจจะไม่ใช้เตียงนอนแต่ยกระดับพื้นเล็กน้อยแล้ววางฟูก ความสูงของหน้าต่างห้องนี้ก็อาจจะมีระดับความสูงต่ำกว่าห้องอื่นๆด้วย


หลังคา
ด้วยภูมิปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติ หลังคาเรือนไทยจึงมีความลาดชันมาก เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้เร็ว แต่น้ำฝนที่ไหลมาตามความลาดชั้นที่มากนั้น ย่อมทำให้น้ำฝนมีโอกาสถูกลมพัดเข้าไปในบ้านได้ง่าย ช่างไทยจึงออกแบบกันสาดให้มีความลาดชันน้อยกว่าหลังคารองรับน้ำฝนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคากระเด็นออกไปให้ห่างจากตัวบ้านมากที่สุดนั่นเอง และในด้านความสวยงามแล้ว ยังช่วยลดทอนขนาดไม่ใช้หลังคาบ้านใหญ่เทอะทะเกินไป

บ้านเรือนไทยสถาปัตยกรรมไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยที่สะท้อนภาพชีวิตแบบไทย ทั้งในด้านความเป็นอยู่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อม โดยเฉพาะในเรื่อง "บ้าน" หรือ "เรือน" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผูกพันมาตั้งแต่เกิด แม้ว่าปัจจุบันการดำเนินชีวิตและรูปลักษณ์ของบ้านจะแปรเปลี่ยนไป แต่หากมองกันอย่างลึกซึ้งแล้ว ชีวิตในบ้านของคนไทยยังไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งค่านิยมบางประการยังคงดำเนินการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บ้านมิได้มีความหมายเพียงเป็นที่อาศัยนอนในตอนกลางคืนและออกไปทำงานตอนเช้าเท่านั้น แต่บ้านคือที่อยู่อาศัยของครอบครัวที่มีชีวิตชีวา มีความรักและความอบอุ่นเป็นที่พึ่งในทุกโมงยามที่ต้องการบ้านจึงเป็นที่ที่คนอยากให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตสิ่งหนึ่ง บ้านไทยหรือเรือนไทยในความคิดของคนทั่วไปคงเป็นภาพบ้านไทยภาคกลาง ที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง มีหลังคาแหลมสูงชัน ประดับด้วยตัวเหงา มีหน้าต่างบานสูงรอบๆ ตัวบ้านอาจเป็นบ้านเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มบ้านก็ได้ ลักษณะของบ้านไทยดังกล่าวชี้ชัดให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณ ทั้งช่างปลูกบ้านและช่างออกแบบ ที่ปลูกบ้านเพื่อนประโยชน์และความต้องการใช้สอย และแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัย เป็นแบบบ้านที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บ้านไทย จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติและเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันน่าภูมิใจ คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและอยู่ในเขตมรสุม จึงมีฝนตกชุกในหน้าฝน บางทีหรือเกือบทุกปีจะเกิดน้ำท่วม คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำสวน ทำนา ทำไร่ ทำประมง แม่น้ำลำคลองจึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิต ที่นี่จึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพักผ่อน และเป็นเส้นทางคมนาคม คนไทยภาคกลางจึงนิยมปลูกบ้านอยู่ริมฝั่งน้ำสายเล็กสายน้อย เมื่อยามน้ำหลากน้ำก็จะไหลท่วมบ้านเรือน คนไทยแต่ก่อนไม่รู้จักการถมที่ดินหนีน้ำท่วม จึงปลูกบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง ซึ่งให้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยให้ลมผ่านสะดวก ทั้งเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย หรือคนร้ายในยามค่ำคืน และยังเป็นการป้องกันน้ำท่วมถึงตัวบ้านอีกด้วย ใต้ถุนบ้านนี้ในยามปกติอาจใช้เป็นที่สันทนาการของครอบครัวคือ เป็นที่พักผ่อน หรือที่เล่นของเด็กๆ หรือใช้รวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทอผ้า ตั้งเตาหรือกระทะทำขนมกวนต่างๆ และไว้เก็บสิ่งของทั้งใหญ่และเล็ก ยามเมื่อน้ำหลากมาก็ย้ายสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากใต้ถุนขึ้นไว้บนตัวเรือน ใต้ถุนที่ยกสูงนี้ นิยมให้สูงกว่าระดับศีรษะคนยืน เพื่อให้เดินได้สะดวกดังที่กล่าวแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน แสงแดดจัดจ้า อากาศโดยทั่วไปจึงร้อนถึงร้อนจัด โดยเฉพาะในหน้าร้อน บ้านจึงเป็นสถานที่ให้ความร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัย ภูมิปัญญาของการปลูกบ้านไทยคือ การออกแบบให้เป็นหลังคาทรงสูง เพื่อให้อากาศภายในเบาลอยตัวอยู่ ขณะที่ความร้อนจะถ่ายเทสู่ตัวบ้านหรือภายในห้องได้อย่างช้าๆ เนื่องจากระยะความสูงของหลังคาทำให้ภายในตัวบ้านเย็นสบาย แม้จะมีห้องและฝากั้น แต่ก็มีพื้นที่เพียง 40% ที่เหลืออีก 60% เป็นชานเปิดโล่ง ทำให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ทั้งลมจากใต้ถุนสูงที่พัดขึ้นมาข้างบนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สายลมเย็นจะพัดผ่านในบ้านตลอดเวลา ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของบ้านไทยที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาอากาศร้อนคือ การสร้างชายคาหรือไขรา ให้ยื่นยาวออกคลุมตัวบ้านมากกว่าบ้านทรงยุโรป เป็นการป้องกันแดดไม่ให้เผาฝาบ้านให้ร้อน ป้องกันฝนสาด แดดส่อง ห้องจะได้เย็นตลอดทั้งวัน องค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้บ้านไทยเป็นบ้านที่ร่มเย็นคือ "ความโปร่ง" ซึ่งเกิดจากการออกแบบฝาบ้านให้มีอากาศผ่านได้ เช่น ใช้ฝาสำหรวด หรือฝาขัดแตะ หน้าจั่วของบ้านทำเป็นช่องโปร่งให้ลมผ่านได้ลักษณะเด่นชัดอีกประการของบ้านไทยคือ รูปทรงบ้านที่มีระเบียบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน จะแลเห็นได้ตั้งแต่ชานหน้าเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งรับลม คนนั่งจากชานเรือนจะมองเห็นมุมกว้าง ทำให้รู้สึกโล่งโปร่งใจโปร่งตา ถัดจากชานเข้ามาเป็นระเบียงที่ใช้รับรองแขก จัดงานตามประเพณีนิยม หรือคติทางศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ โกนจุก แต่งงาน ตากอาหารแห้ง และที่นอนชานมักใช้ปลูกไม้กระถาง วางอ่างน้ำ ปลูกตะโกดัดและบอนไซ ซึ่งคนแต่ก่อนนิยมปลูกต้นไม้ใส่กระถางไว้เชยชม และอาจจัดมุมใดมุมหนึ่งของนอกชานในที่ลับตาคนเป็นที่อาบน้ำก็ได้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อไปลักพาตัวนางวันทองเมียรักกลับคืนมานั้น บรรยายบรรยากาศบนชานเรือนของขุนช้าง ซึ่งเป็นคหบดีเมืองสุพรรณไว้น่าดูนัก อ่านแล้วรู้สึกรื่นรมย์ บอกไม่ถูกทีเดียว


โจนลงกลางชานร้านดอกไม้


ของขุนช้างสร้างไว้อยู่ดาษดื่น


รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน


ชื่นชื่นลมชายสบายใจ


กระถางแถวแก้วเกตพิกุลแกม


ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว




คุณค่าและความงามของบ้านไทย
ภายใต้เปลือกโครงสร้างของ “ บ้าน “ ล้วนมีเรื่องราวที่บอกเล่าถึงความเป็นมา ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของมนุษยชาติ เช่นเดียวกับ “ บ้านไทย “ ที่แม้รูปลักษณ์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยที่เป็นสากล แต่เนื้อหาของความเป็นบ้านก็มิได้แปลกไปกว่าเมื่อยุคในอดีต กล่าวคือ ยังคงเป็นสถานที่พักพิงอาศัยที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่เช่นเคย“ บ้านไทย “ ในปัจจุบันยังคงเผยให้เห็นกระบวนการทางความคิดอันแยบยลของบรรพชนที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน เรายังคงนิยมปลูกบ้านให้แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นเพื่อให้ได้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติตามวิถีพุทธ แม้ตัวโครงสร้างจะมีการประยุกต์หน้าตาให้แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการพัฒนาตัดทอนองค์ประกอบของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไทยในพื้นถิ่นต่างๆ ให้ดูเรียบเกลี้ยง เหมาะกับยุคสมัย หลายบ้านเลือกใช้โครงหลังคาที่ลาดชัน แต่ก็มิได้ประดับด้วยเหลาปั้นลมหรือกาแลแบบอดีต หลายบ้านเลือกใช้บานลูกฟักกระจกแทนบานลูกฟักไม้แบบฝาปะกน หลายบ้านนำเอาชานบ้านหรือพื้นที่ว่างแบบสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ เพื่อประโยชน์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งส่งต่อผู้อยู่อาศัยไปสู่กิจกรรมการใช้สอยอื่นๆเมื่อก้าวเข้าสู่ภายในบ้าน การตกแต่งภายในก็ยังคงเผยให้เห็นรากของวัฒนธรรมและคติความเชื่อต่างๆ ที่ผนวกเข้ากับความเป็นสากลได้อย่างพอเหมาะ แม้ในบางครั้งบางคราเปลือกที่เรามองเห็นจะเรียบนิ่งด้วยเส้นสายแบบทันสมัย แต่ในรายละเอียดของการใช้สีสันวัสดุ เครื่องเรือน และขอบตกแต่งบางอย่าง ก็ยังแสดงถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดีไอเดียในการออกแบบที่ช่วยเพิ่มบุคลิกความเป็นไทยให้บ้าน
1. ยกใต้ถุนสูง แล้วจัดพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อน ส่วนทำงานนอกบ้าน หรือพื้นที่จอดรถ
2. เลือกใช้หลังคาจั่วทรงสูงแบบเรือนไทยที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนและมีฝนตกชุก เพราะสามารถระบายน้ำฝนและระบายอากาศใต้หลังคาได้ดี อาจออกแบบให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นห้องใต้หลังคาหรือห้องเก็บของ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น
3. ออกแบบให้ชายครายื่นยาวตลอดตัวบ้านเพื่อป้องกันแสงแดดและฝน พร้อมกับติดรางน้ำ วางโอ่งหรือตุ่มดินเผาไว้ที่มุมบ้านเพื่อรองน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ และให้โอ่งหรือตุ่มเหล่านี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศแบบไทยให้บ้านด้วย
4. ออกแบบให้บ้านมีสัดส่วนที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไปและเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับรูปทรงของบ้านเรือนไทย โดยอาจเลือกใช้วิธีออกแบบแยกตัวบ้านออกเป็นหลายหลัง แล้วเชื่อมแต่ละหลังด้วยการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายนอกด้วยชานบ้านหรือทางเดิน (อาจมีหลังคากันแดดกันฝนด้วย) แต่หากต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในซึ่งมีความต่อเนื่องกันตลอด ก็อาจนำเทคนิคการพรางตาเข้ามาช่วยด้วยการออกแบบบางส่วนของหลังคาบ้านเป็นหลังคาแบน เพื่อแบ่งหลังคาให้ดูไม่ใหญ่มากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยทำให้บ้านดูเหมือนเป็นหมู่เรือนที่มีบ้านหลายหลังอยู่ร่วมกัน
5. ออกแบบเป็นเรือนหลังเล็กๆ หลายหลัง โดยแต่ละหลังแบ่งหน้าที่ใช้สอยแตกต่างกันไป ( เรือนหนึ่งหลังอาจเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน แล้วมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในเรือนหลังใหญ่ ) พร้อมกับเชื่อมต่อทุกๆ หลังด้วยชานเพื่อให้สามารถต่อเติมเพิ่มได้ภายหลัง เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายอย่างไทยๆ
6. ทำบันไดขึ้นลงนอกตัวบ้านเพื่อสร้างบรรยากาศแบบเรือนไทย หากเป็นบ้านสองชั้นที่มีพื้นที่ใช้สอยด้านล่างด้วย ก็อาจออกแบบให้มีบันไดสองแห่ง โดยเพิ่มบันไดภายในบ้านเข้าไปด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้งานช่วงกลางคืนหรือเวลาที่มีแดดและ
. นำองค์ประกอบโครงสร้างและส่วนตกแต่งของเรือนไทยที่มีลักษณะโดดเด่นมาใช้ประดับตัวบ้าน เช่น ค้ำยัน กรอบหน้าต่าง-ประตูที่มีลักษณะสอบเข้า โดยอาจประยุกต์ ดัดแปลง หรือลดทอนรายละเอียดบางส่วนลง เพื่อให้ส่วนต่างๆ เหล่านี้เข้ากับบ้านสมัยใหม่มากขึ้น เช่น การใช้ค้ำยันเหล็กทาสีแทนไม้ หรือลดลวดลายงานแกะสลักขององค์ประกอบเหล่านี้ลง
8. ตกแต่งผนังบ้านบางส่วนเป็นลวดลายฝาเรือนสมัยก่อน ทั้งฝาปะกน ฝาสายบัว และฝาไม้ขัดแตะ เพื่อให้บ้านมีบุคลิกของเรือนไทยที่ชัดเจนขึ้น หรือออกแบบดัดแปลงเพิ่มช่องแสงหรือทำประตู-หน้าต่าง ให้ดูกลมกลืนกับลวดลายของฝาเรือนเหล่านี้9. ออกแบบช่องลมไม้ฉลุลวดลายให้สามารถติดมุ้งลวดหรือกระจกได้ เพื่อกันยุงหรือควบคุมอุณหภูมิสำหรับห้องปรับอากาศ และช่วยเพิ่มความสว่างภายในบ้าน
10. เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ให้อารมณ์ธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ไม้ อิฐ หรือกระเบื้องดินเผา เพื่อให้บ้านดูอบอุ่นและเป็นกันเองมากขึ้น